การเลือกไมโครโฟนให้เหมาะกับการทำงานของเรา การใช้ไมโครโฟนที่เหมาะสมสำหรับงานนั้นมีความสำคัญเพราะจะทำให้ได้เสียงที่ดีที่สุดและเพื่อการผลิตงานคุณภาพสูงในงานสตูดิโอ ทั้งการร้อง การแคสติ้งเกมส์ การทำพอตแคสต์ การทำงานวิดีโอ งานเพลง หรือการทำเสียง ASMR ที่สำคัญเราจะได้ไม่ลงทุนไปกับการใช้ไมค์ผิดประเภท แล้วการเลือกไมโครโฟนให้เหมาะกับการทำงานของเรา จะเลือกจากอะไรแล้วจะตัดสินใจได้อย่างไร มาลองดูไปด้วยกันครับ
การเลือกไมโครโฟนให้เหมาะกับการทำงานของเรา
1. เลือกให้ตรงกับจุดประสงค์การใช้งาน
ปกติแล้วการเลือกซื้อไมค์มีจุดประสงค์เพื่อการใช้งานอยู่หลัก ๆ คือ 3 จุดประสงค์ คือไมค์เพื่อใช้บันทึกพูด/เสียงร้องเพลง ไมค์ที่ใช้รับเสียงแบบ ASMR และไมค์สำหรับการบันทึกเสียงดนตรี ซึ่งก็จะแยกออกไปอีกว่า ขณะพูดหรือร้องต้องการเสียงภายนอกด้วยหรือไม่ ระยะห่างจากตัวไมค์และบรรยากาศแวดล้อม
ไมค์ที่ใช้สำหรับการพูด เน้นผู้พูดเป็นหลัก
ไมค์ที่ใช้สำหรับเก็บเสียงพูด โดยที่ผู้พูดอยู่ใกล้กับไมค์ ถ้าเป็น YouTuber หรือ Game Caster ที่ทำงานในสตูดิโอที่ยอมให้เห็นตัวไมค์ในจอด้วย ก็เลือกใช้ไมโครโฟนชนิดไดนามิกได้ แต่ถ้าอยากให้ไมค์ห่างออกไป และยังคงเก็บรายละเอียดของเสียงได้ ก็เลือกใช้ไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์ เพราะจะไวต่อการรับเสียงมากกว่า
ไมค์สำหรับการเก็บเสียงร้อง
เหมาะกับไมโครโฟนที่ไวต่อการรับความถี่ของเสียงโทนต่าง ๆ รับช่วงเสียงได้กว้างกว่าหรือการทำงานในสตูดิโอ ควบคุมปัจจัยเรื่องเสียงได้ง่ายไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์จึงเหมาะสมกับการเก็บเสียงร้องเพลง
ถ้าร้องเพลงใกล้ตัวไมค์ ก็จะต้องมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันการดูดเสียงหายใจหรือการใช้ตัวป้องกับการเกิดเสียง “ป๊อป” ที่เกิดจากการกระแทกของลมที่เกิดขึ้นจากการออกเสียง ซึ่งก็ยังคงใช้ได้กับการบันทึกเสียงร้องเพลง พร้อมกับการเล่นดนตรี และเก็บบรรยากาศเสียงไปพร้อมกันได้
แต่ถ้าเป็นการร้องเพลงที่ร้องที่โล่ง ไมโครโฟนชนิดไดนามิก ก็เป็นตัวเลือกที่ให้ความเป็นธรรมชาติของเสียงมากกว่า ทั้งยังช่วยลดเสียงรบกวนที่เกิดขึ้น เนื่องจากการทำงานนอกตัวอาคาร ควบคุมเสียงลำบาก ด้วยคุณสมบัติของไมโครโฟนที่ไม่ไวต่อเสียงมาก จึงช่วยลดเสียงรบกวน ทั้งใช้เสียงได้อย่างเต็มที่ ตะโกนหรือร้องเพลงแบบเนวเฮฟวีได้
ไมค์ที่ใช้รับเสียงแบบ ASMR
Autonomous sensory meridian response (ASMR) เป็นการใช้เสียงเพื่อกระตุ้นการรับรู้ด้านต่าง ๆ ทั้งยังสร้างความพึงพอใจสำหรับผู้ฟัง ซึ่งปัจจุบันการบันทึกเสียงในลักษณะนี้เป็นที่นิยม ทั้งเสียงการรับประทานอาหาร ลูบ ขูด เกา เสียงกระซิบหรือ เสียงลมหายใจ โดยไมโครโฟนที่สามารถเก็บรายละเอียดเสียงเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งเสียงที่หูของมนุษย์แทบจะไม่ได้ยินก็คือไมโครโฟนชนิดคอนเดนเซอร์ ซึ่งจะมีความไวต่อเสียงมาก
ไมค์ที่ใช้สำหรับเครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่มีการกระแทกของเสียงสูง เช่น เสียงกลอง หรือกีตาร์ไฟฟ้าที่ต่อผ่านตัวขยายเสียง การใช้ไมโครโฟนชนิดไดนามิกจะเหมาะมากกกว่า เพราะสามารถทนการอัดและกระแทกของเสียงได้ดีกว่า
แต่ถ้าเป็นเครื่องดนตรี เช่นเปียโน กีต้าร์โปร่ง หรือไวโอลิน ไมโครโฟนแบบคอนเดนเซอร์ จะเหมาะสำหรับการเก็บเสียงเครื่องดนตรีในย่านความถี่ที่กว้างตั้งแต่เสียงทุ้มลึก ไปจนถึงความถี่สูงคือเสียงแหลมสูงนั่นเองครับ
2. ทิศทางการรับเสียง
รูปแบบการรับเสียงก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการเลือกซื้อไมค์เช่นกันครับ โดยทั่วไปไมค์โครโฟนจะมีการรับรูปแบบเสียงอยู่ 3 แบบหลัก ๆ ครับ คือ 1. คาร์ดิออยด์ (Cardioid) รับเสียงได้จากด้านหน้าได้ดี 2. ออมนิไดเรคชันนอล (Omnidirectional) รับเสียงได้รอบทิศทาง และ 3. ไบไดเรชันนอล (Bidirectional) รับเสียงได้จากทั้งสองด้านของไมโครโฟน
ไมค์ที่รับเสียงจากด้านหน้าแบบคาร์ดิออยด์ (Cardioid) เหมาะสำหรับไมโครโฟนที่ใช้เก็บเสียงพูด เสียงร้องเพลง การแคสติ้งเกมส์ การทำรายการพอตแคสต์ การใช้เสียงพากย์หรือเสียงบรรยาย หรือการพูดสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวในสตูดิโอ หรือการทำงานวิดีโอนอกสถานที่ไมค์ Shot gun เป็นตัวเลือกที่ดีครับ โดยจะรับเสียงจากด้านหน้า เน้นเสียงผู้พูดจากด้านหน้าและรับเสียงรอบข้างได้น้อย เพื่อเป็นการลดเสียงรบกวนไปในตัวครับ
ซึ่งอย่างไรก็ตามไมค์ที่รับเสียงแบบออมนิไดเรคชันนอล (Omnidirectional) ก็เป็นตัวเลือกในการใช้งานด้านการพูดในลักษณะการพูดคุยเช่นกัน โดยหลายครั้งเราจะใช้ไมค์ลาวาเรียแบบไร้สาย ติดปกเสื้อ หรือวางใกล้เครื่องดนตรี ซึ่งตัวไมค์จะอยู่ใกล้กับผู้พูดหรือแหล่งกำเนิดเสียงพอสมควร ซึ่งก็สามารถลดเสียงรบกวนได้ดีเหมือนกันครับ
ไมค์แบบรับได้รอบทิศทางออมนิไดเรคชันนอล (Omnidirectional) เหมาะสำหรับการบันทึกเสียงโดยรวม ไม่กำหนดทิศทาง ผู้พูดหรือแหล่งกำเนิดเสียงสามารถอยู่ตำแหน่งไหนก็ตาม ไมค์ก็สามารถรับเสียงได้อย่างชัดเจน เหมาะสำหรับการใช้ไมค์เพื่อประชุมกลุ่ม การ cover เสียงร้องพร้อมกับเครื่องดนตรี หรือการบันทึกเสียงบรรยากาศโดยรอบก็ได้เช่นกัน
ไมค์แบบรับเสียงได้สองทิศทางไบไดเรชันนอล (Bidirectional) รับเสียงได้จากทั้งสองด้านของไมโครโฟนจึงเหมาะสำหรับการใช้งานที่ผู้พูดหรือแหล่งกำเนิดเสียงอยู่ 2 ฝั่ง ผู้สัมภาษณ์ หรือการพูดโต้ตอบจากสองฝ่าย การเก็บเสียงร้องและเสียงดนตรีจากสองฝั่ง หน้าหลังนั่นเองครับ
3. ลักษณะการใช้งาน
ลักษณะการใช้งานไมโครโฟน ขึ้นอยู่กับความคล่องตัวและความเหมาะสมในการทำงาน โดยไมโครโฟนจะมีแบบทั้งที่เป็น ไมค์สาย ไมค์แบบติดหัวกล้อง หรือที่หลายคนเรียกกันติดปากกันว่าไมค์ช็อตกัน (Shotgun Microphone) ไมค์สายติดปกเสื้อหรือ ไมโครโฟนไร้สายหรือไมค์ไวเลส (Wireless Microphone) ซึ่งก็ต้องเลือกให้ตรงกับลักษณะการใช้งาน ว่างานที่จะใชอยู่ในหรือนอกสถานที่
ไมค์สาย คือไมค์ที่มีสายเคเบิลเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างไมโครโฟนไปยังตัวแปลงสัญญาณเสียงหรือมิกเซอร์ ให้สัญญาณเสถียรคมชัด ทำงานได้เมื่อมีไฟฟ้า มีความคล่องตัวน้อย เหมาะสำหรับการทำงานทั้งในและนอกสตูดิโอ ทั้งการร้องเพลง การพูดและการสนทนา ให้สำหรับเครื่องดนตรีก็ได้เช่นกันระยะทางและการเคลื่อนที่อาจจะจำกัดด้วยความยาวของสายเคเบิล
ไมค์แบบติดหัวกล้องเป็นลักษณะของไมค์ที่ใช้สายแบบหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นการเชื่อมระหว่างไมค์กับกล้องถ่ายวิดีโอ โดนจะอยู่ในตำแหน่ง Cold shoe ของกล้องหรือบนหัวกล้อง หรือช่องเชื่อมต่อ HDMI หรือ 3.5 มม. เพื่อทำหน้าที่รับเสียงในระหว่างการทำงานนั่นเอง ถูกจำกัดด้วยระยะของสายเคเบิล
ไมค์ไร้สาย เชื่อมต่อด้วยสัญญาณที่ส่งระหว่างตัวรับและตัวส่งสัญญาณ สามารถเคลื่อนที่ เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ ขนาดเล็กพกพาสะดวก ซ่อนไมค์ได้ (แบบตัวใหญ่ขนาดปกติก็มีเช่นกัน) ถูกจำกัดด้วยระยะการส่งสัญญาณและแบตเตอรี่ที่ใช้ การส่งสัญญาณอาจไม่สเถียรไวต่อคลื่นแทรกและสิ่งกีดขวาง
4. เทคโนโลยีของไมโครโฟน
ปัจจุบันผู้ผลิตไมโครโฟนได้พัฒนาความสามารถของไมโครโฟนมาอย่างดี ประสิทธิภาพสูง รองรับการใช้งานที่หลายรูปแบบ มีเทคโนโลยีด้านเสียง ทั้งการช่วยจับสัญญาณเสียงได้ดีขึ้น การกันเสียงรบกวน การตัดเสียงบางอย่างออกได้ การใช้ร่วมกับอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์แต่งเสียง ระยะการส่งสัญญาณ และคุณภาพด้านเสียง มีฟีเจอร์การใช้งานอย่างมากมาย ดังนั้นเรื่องเทคโนโลยี หรือความสามารถของดมโครโฟนแต่ละแบรนด์ ก็เป็นปัจจัยประกอบในการเลือกไมโครโฟนด้วยเช่นกัน
5. ราคาที่ยอมรับได้สำหรับการลงทุน การประกันคุณภาพและบริการหลังการขาย
สำหรับเรื่องราคา อาจจะเป็นเงื่อนไขแรกในการเลือกซื้อไมโครโฟน เพราะวางงบประมาณไว้ก่อน ที่จะเลือกคุณสมบัติ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่แปลก การจำกัดราคาไว้ก่อนเป็นการช่วยกำหนดความสามารถเบื้องตันว่าจะใช้งานไมโครโฟนประเภทไหนและแบรนด์อะไรที่พอจะนำมาเป็นตัวเลือกได้บ้าง ซึ่งคุณภาพและเทคโนโลยีมักจะมาพร้อมราคาครับ สินค้าประกันศูยน์รวมทั้งการดูแลหลังการขาย เพราะเราจะได้มีคนดูแลและให้คำปรึกษา ทั้งยังช่วยแก้ปัญหาระหว่างการใช้งานได้ด้วยก็ช่วยในการตัดสินใจได้ดีด้วยครับ