รูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟน (polar patterns) คืออะไร และเกี่ยวข้องกับไมโครโฟนของเรายังไงบ้าง ไมโครโฟนที่มีอยู่ในตลาดตอนนี้มีอยู่ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ ไมโครโฟนชนิดไดนามิคและชนิดคอนเดนเซอร์ ที่จะไวต่อเสียงแตกต่างกัน ซึ่งไมโครโฟนที่ใช้ก็มีรูปแบบการรับเสียงที่แตกต่างกันซึ่งจะมีผลต่อการรับเสียงอีกด้วย มาดูการรับเสียงกันครับว่า มีกี่รูปแบบ อะไรบ้าง
รูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟน (polar patterns) คืออะไร และเกี่ยวข้องกับไมโครโฟนของเรายังไงบ้าง
รูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟน มีกี่ประเภท อะไรบ้าง?
รูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟนจะเป็นรูปแบบของการรับเสียง ว่าไมค์ตัวนั้นมีรูปแบบการรับเสียงจากด้านหน้า ทั้งสองด้าน หรือ รับเสียงได้โดยรอบ ซึ่งรูปแบบการรับเสียง (polar patterns) แบ่งตามทิศทางการรับเสียง สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ๆ คือ 1. คาร์ดิออยด์ (Cardioid) รับเสียงได้จากด้านหน้าได้ดี 2. ออมนิไดเรคชันนอล (Omnidirectional) รับเสียงได้รอบทิศทาง และ 3. ไบไดเรชันนอล (Bidirectional (figure-of-eight) polar pattern) รับเสียงได้จากทั้งสองด้านของไมโครโฟน
1. คาร์ดิออยด์ (Cardioid)
รูปแบบการรับเสียงแบบคาร์ดิออยด์ จะรับเสียงได้ดีที่สุดเมื่อแหล่งกำเนิดเสียงมีทิศทางมาจากด้านหน้าของโมโครโฟน ซึ่งจะมีอีก 2 ลักษณะย่อยที่สามารถรับเสียงจากด้านหน้าได้ดีและรับเสียงด้านข้างได้อีกเล็กน้อยด้วยคือ Hyper-cardioid และ super-cardioid
ซึ่งข้อดีของไมค์ที่มีรูปแบบเสียงแบบคาร์ดิออยด์ จะเก็บเสียงได้ดีโดยเฉพาะเสียงที่มาจากด้านหน้า จึงสามารถกำหนดคุณภาพเสียงได้ และกำหนดได้ว่าจะเก็บเสียงอะไรเป็นหลัก ทั้งยังลดเสียงรบกวนที่มาจากทิศทางอื่นได้
ไมค์ชอร์ตกัน (shotgun) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งใช้เก็บเสียงในการทำงาน Vlog หรือการทำงานด้านวิดีโอภาพยนตร์นอกสถานที่โดยจะเก็บเสียงผู้พูดที่อยู่ด้านหน้าเป็นหลัก เก็บเสียงจากด้านข้างเล็กน้อยแต่จะไม่รับเสียงจากด้านหลัง
2. ออมนิไดเรคชันนอล (Omnidirectional)
ออมนิไดเรคชันนอล เป็นการรับเสียงจากรอบทิศทางเก็บรายละเอียดเสียงได้ดี ไม่ว่าแหล่งกำเนิดเสียงจะอยู่ทิศทางใดก็ตามทั้งเสียงหลักเช่นเสียงพูด เสียงร้องเพลง หรือเสียงจากบรรยากาศโดยรอบ (Ambient sound) ให้ความเป็นธรรมชาติของเสียง ซึ่งก็หมายถึงว่า รับเสียงแทรกหรือเสียงรบกวนเข้ามาด้วยเช่นกัน
ดังนั้นถ้าหากต้องการลดเสียงรบกวนก็ต้องให้ไมค์เข้าใกล้แหล่งกำเนิดเสียงหลัก เพื่อให้เสียงหลักดังกว่าเสียงรบกวนที่มาจากทิศทางอื่น ๆ ได้ หรือใช้ตัวกันลมหรือนวมกันเสียงก็ช่วยได้เช่นกัน ตัวอย่างของไมค์ที่ใช้รูปแบบการรับเสียงแบบนี้คือไมค์ลาวาเรีย (lavalier) หรือไมค์ไร้สายทั่วไป ใช้งานได้ทั้งในและนอกสถานที่
3. ไบไดเรชันนอล (Bidirectional หรือ figure-of-eight)
เป็นรูปแบบการรับเสียงสองทิศทาง คือรับเสียงได้ดีทั้งด้านหน้าและด้านหลังของไมโครโฟน จะรับเสียงด้านข้างน้อย รูปแบบการรับเสียงเลยมีลักษณะเหมือนเลข 8 จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า figure-of-eight polar pattern
มักจะพบได้ในไมโครโฟนมืออาชีพ หรือการทำงานในลักษณะเฉพาะที่อาจะใช้ งานในห้องดนตรี ห้องอัดเสียง งานรับเสียงที่เกิดจากการพูดคุยสัมภาษณ์ในสตูดิโอ งานดีเจ ซึ่งไมค์จะถูกวางไว้ตรงกลางระหว่างผู้พูดและผู้ถูกสัมภาษณ์ ตัวอย่างของไมค์ที่มีรูปแบบเสียงรูปแบบนี้คือ Ribbon Microphone