fbpx
skip to Main Content

5 วิธีเลือกเลนส์ตัวที่สองให้เหมาะกับเรา มือใหม่ต้องรู้ก่อนซื้อเลนส์

5 วิธีเลือกเลนส์ตัวที่สองให้เหมาะกับเรา มือใหม่ต้องรู้ก่อนซื้อเลนส์ หลังจากที่เราได้เลนส์ที่ใช้งานตัวแรกไปแล้วก็จะตอบโจทย์การทำงานและครอบคลุมความต้องการในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังอยากที่จะได้มุมมองการถ่ายภาพแบบอื่นด้วยหรือใช้เลนส์เพื่อการถ่ายภาพอย่างอื่นที่ให้ภาพในลักษณะเฉพาะตัวมากขึ้น หรือจะเป็นการอัพเกรดเพื่อให้ได้เลนส์ที่มีคุณสมบัติการทำงานที่สูงกว่าเดิมลองมาดูว่าเราจะเลือกซื้อเลนส์ตัวที่สองยังไงให้เหมาะกันเรากันดีกว่าครับ 

5 วิธีเลือกเลนส์ตัวที่สองให้เหมาะกับเรา

1. จุดประสงค์ของการใช้เลนส์และลักษณะของภาพที่อยากได้ 

ก่อนที่จะเลือกซื้อลองถามตัวเองก่อนว่า ทำไมต้องซื้อเลนส์ตัวใหม่และทำไมถึงต้องเป็นเลนส์ตัวนี้ เพราะการซื้อเลนส์อีกตัวคือการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเลนส์ตัวใหม่กำลังจะตอบโจทย์การทำงานที่กว้างขึ้น ให้มุมมองที่เปลี่ยนจากเดิม เป็นเลนส์ที่เน้นสำหรับการถ่ายบุคคล การถ่ายภาพกลางคืน ถ่ายดาว ถ่ายภาพวิว ถ่ายสัตว์ ถ่ายนก 

หรือเป็นเลนส์ตัวเล็กเพื่อจะเอาติดกล้องไว้ท่องเที่ยวต่างประเทศ หรือเพื่อเป็นการอัพเกรดสำหรับการทำงานที่ง่ายขึ้น เพราะจุดประสงค์ของการใช้เลนส์และลักษณะของภาพที่อยากได้จะเป็นช่วยเป็นแนวทางเพื่อให้เราตัดสินใจในการจะซื้อเลนส์ตัวที่สองได้นั่นเองครับ 

2. เลือกระยะเลนส์เพื่อให้ตรงกับจุดประสงค์การใช้และลักษณะของภาพที่อยากได้

ระยะของเลนส์เป็นตัวกำหนดมุมมองภาพที่สำคัญโดยระยะของเลนส์ที่มีระยะสั้น (ตัวเลขน้อย 18 มม. 24 มม.) จะให้มุมมองภาพที่กว้าง ภาพจะออกมาแบบมุมกว้าง เลนส์ที่มีระยะยาว (ตัวเลขมาก 70 มม., 85 มม., 100 มม., 200 มม., 600 มม.) จะให้มุมที่แคบลงตามลำดับ 

ตัวอย่างเช่น 
เลนส์ 14 mm มีระยะห่างระหว่างเลนส์จนถึงเซ็นเซอร์ 14 mm และจะให้มุมมองภาพที่กว้าง 114 องศา 
เลนส์ 35mm มีระยะห่างระหว่างเลนส์จนถึงเซ็นเซอร์ 35 mm และจะให้มุมมองภาพที่กว้าง 63 องศา 
และเลนส์ 200 mm มีระยะห่างระหว่างเลนส์จนถึงเซ็นเซอร์ 200 mm และจะให้มุมมองภาพที่กว้าง 12 องศา

ซึ่งเลนส์ก็จะถูกแบ่งประเภทตามระยะของเลนส์ เช่น เลนส์มุมกว้าง เลนส์มาตรฐาน เลนส์เทเลโฟโต้ การใช้เลนส์แต่ละระยะก็จะให้ภาพที่ได้ลักษณะภาพที่แตกต่างกันซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของเลนส์แต่ละประเภท 

  • เลนส์มุมกว้างพิเศษ 14-24MM (ULTRA WIDE ANGLE) ภาพที่ได้จะมีความโค้งงอและบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริง ส่วนมากจะเป็นการจัดตำแหน่งให้จุดโฟกัสอยู่กลางภาพ ให้มุมมองที่แปลกใหม่ 
  • เลนส์มุมกว้าง 24-35 MM (WIDE ANGLE) ได้ภาพโดยรวมแบบกว้าง และมีความโค้งงอของภาพแต่ไม่มากนักได้รายละเอียดของพื้นหลังอย่างครบถ้วน
  • เลนส์มาตรฐาน 35-70MM (STANDARD) จะให้ภาพที่มีขนาดเสมือนจริงมากที่สุด มักจะใช้ในการถ่ายภาพบุคคลหรือสินค้าที่ต้องการความแม่นยำด้านขนาดและรูปร่าง โดยปกติแล้วเลนส์มาตรฐานเป็นเลนส์ที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่แพงมาก ทั้งยังให้ผลลัพท์ที่น่าพอใจอีกด้วย
  • เลนส์เทเลโฟโต้ 70-300MM (TELEPHOTO) ภาพจะเหมือนถูกเข้ามาให้ความรู้สึกเหมือนวัตถุถูกดึงเข้ามาใกล้พื้นหลังจะฟุ้งเบลอ เน้นตัวแบบเหม่ะสำหรับการถ่ายภาพสัตว์ นก หรือจะเอามาถ่ายภาพบุคคลก็ทำให้ตัวแบบโดดเด่นได้ไม่น้อยเลย

3. ความเข้ากันได้ระหว่างกล้องและเลนส์

เลนส์จะทำงานได้อย่างสมบูรณ์เมื่อต่อเข้ากับกล้องที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน ซึ่งก่อนที่จะซื้อเลนส์ต้องรู้ก่อนว่ากล้องที่ใช้มีเซ็นเซอร์ภาพแบบไหนและใช้ได้กับเลนส์แบบไหนซึ่งเซ็นเซอร์ที่มีอยู่ในตลาดกล้องก็เช่น เซ็นเซอร์แบบ Full frame , APS-C และแบบ Micro four thirds ดังนั้นต้องเข้าใจกล้องตัวเองก่อนว่ามีเซ็นเซอร์แบบไหน แล้วจึงเลือกซื้อเลนส์ที่รองรับการทำงานกับเซ็นเซอร์นั้น

เลนส์เม้าท์คือส่วนที่เลนส์ใช้ต่อกับกล้องโดยในคู่มือจะบอกว่ากล้องใช้งานได้กับเลนส์ที่มีเม้าท์ชนิดไหน เพราะไม่ใช่ว่าเลนส์ทุกตัวจะทำงานได้กับกล้องทุกค่าย ซึ่งในบางครั้งเลนส์ที่เหมาะสมอาจจะมีเฉพาะเลนส์ที่ผลิตจากบริษัทที่ผลิตกล้อง หรือเราอาจจะเลือกเลนส์ตัวเลือกที่มาจากบริษัทที่เป็น Third party ก็ได้ 

4. ลักษณะการใช้งานยืดหยุ่น ซูมได้หรือเลนส์ฟิกซ์ (เลนส์ไพร์ม) 

เลนส์ฟิกซ์หรือเลนส์ไพร์ม จะถูกเรียกตามระยะ คือ ระยะคงที่ เช่น เลนส์ 24 mm เลนส์ 35 mm หรือเลนส์ 85 mm เป็นระยะที่จำกัด ไม่สามารถที่จะซูมเข้าหรือออกได้ ดังนั้นต้องขยับ เคลื่อนที่เข้าใกล้หรือออกห่างจากตัวแบบเอง เพื่อให้ได้ระยะที่ต้องการ 

ส่วนเลนส์ซูม จะเป็นเลนส์ที่มีระยะเป็นช่วง เช่น ก็คือความสะดวกในการดึงภาพระยะไกลให้ใกล้เข้ามา เช่น เลนส์ระยะ 24-70mm การทำงานยืดหยุ่นกว่า เพราะสามารถเลือกระยะการใช้งานได้ ไม่ต้องเดินเข้าออกเอง เพียงหมุนซุมก็สามารถซูมถ่ายภาพใกล้ตัวแบบมากกว่าเดิมได้ 

5. น้ำหนักของเลนส์ เทคโนโลยี คุณสมบัติและความสามารถรวมถึงข้อจำกัด

โดยทั่วไป เลนส์ที่มีคุณสมบัติและความสามารถสูงมักจะมาพร้อมกับราคาและน้ำหนัก รูรับแสงกว้าง น้ำหนักยิ่งเยอะ ราคาสูง เพราะชิ้นเลนส์ถูกออกแบบมาอย่างซับซ้อนมากขึ้น ชิ้นเลนส์ผลิตจากวัสดุที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ก็มีเลนส์หลายแบรนด์ที่เริ่มพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเลนส์ให้ตัวเล็กลง เบาลงแต่ประสิทธิภาพสูงขึ้น 

การเลือกจากวัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มต้นจะช่วยให้การเลือกเลนส์ตัวที่สองง่ายขึ้น ถ้าอยากได้เบาก็เลือกที่คุณภาพพร้อมกับน้ำหนักเลนส์ที่เบา สำหรับใครที่ต้องการอัพเกรดเพื่อให้ทำงานง่ายขึ้นก็อาจจะพิจารณาดูถึงรูรับแสง การชดเชยแสง หรือความเร็วในการทำงานของออโต้โฟกัส เลนส์บางตัวรูรับแสงกว้างแต่โฟกัสได้ช้า ดังนั้นจึงดูทั้งคุณสมบัติและข้อจำกัดของเลนส์ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อช่วยในการตัดสินใจด้วยครับ 

Image by Ryad Guelmaoui

สรุป ถ้าต้องการจะเลือกเลนส์ตัวที่สองมาใช้งาน เริ่มต้นจากการดูวัตถุประสงค์และลักษณะภาพที่เราต้องการครับ จากนั้นเจาะดูรายละเอียดของเลนส์ว่าได้ตามคุณสมบัติที่อยากได้หรือไม่ ระยะเลนส์ ความเข้ากันได้กับกล้องที่ใช้อยู่ เลนส์ซูมได้หรือจะเป็นแบบจำกัดระยะแบบเลนส์ฟิกซ์ จากนั้นถึงความสามารถและดูข้อจำกัดของเลนส์ตัวนั้นด้วยว่ายอมรับข้อจำกัดนั้นได้ด้วยไม่ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้เราเลือกได้ว่าเราจะซื้อเลนส์ตัวที่สองตัวไหนมาไว้ใช้งานครับ

×Close search
Search