5 สภาพแสงในการถ่ายภาพที่มือใหม่ควรรู้ และคำแนะนำสำหรับมือใหม่หัดถ่ายภาพ สภาพแสงในการถ่ายภาพในธรรมชาติขึ้นอยู่กับช่วงเวลาในการถ่ายภาพ ฤดูกาล และตำแหน่งแสงหรือดวงอาทิตย์ สถานที่และองค์ประกอบจะทำให้รูปแบบแสงดูแตกต่างไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องไม่แปลกที่จะเห็นว่าช่างภาพส่วนใหญ่จะตามหาช่วงเวลาที่ดีที่สุด แสงสวยมากที่สุดในแต่ละสถานที่ อาจจะต้องใช้เวลานานในการรอ รอเวลา รอฤดูกาลที่เหมาะสมให้ได้ภาพสวยอย่างที่ต้องการ
5 สภาพแสงในการถ่ายภาพที่มือใหม่ควรรู้ และคำแนะนำในการถ่ายภาพ
1. ช่วงแสงสีทอง อบอุ่น ดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นขอบฟ้าและช่วงบ่าย ก่อนดวงอาทิตย์ตก (Golden Hour)
ช่วงแสงสีทองเป็นช่วงเวลาทองที่ช่างภาพแนะนำให้ถ่ายภาพในช่วงนี้ เพราะเป็นแสงสีทองที่นุ่มเติมอารมณ์ภาพได้ดี ทั้งยังช่วยให้ภาพดูสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพบุคคลหรือการถ่ายภาพทิวทัศน์
การเตรียมตัวในการถ่ายภาพในช่วง Golden hour ส่วนมากถ้าเป็นการถ่ายภาพทิวทัศน์ความอดทนคือส่วนสำคัญหลัก เพราะต้องเตรียมตัวเพื่อที่จะเดินทางไปถึงสถานที่นั้น ๆ ก่อนแสงในช่วงนั้นจะหมดไป และบางครั้งต้องรอ เพื่อให้ได้ช่วงที่แสงอยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ
การถ่ายภาพในช่วง Golden Hour มักใช้เทคนิคการถ่ายภาพย้อนแสง เช่นการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก หรือการถ่ายภาพแบบ rim light การถ่ายแบบ silhouette ก็ตามดังนั้นช่างภาพมือใหม่จึงต้องฝึกฝนทั้งการตั้งค่ากล้อง จัดมุมจัดองค์ประกอบเพื่อให้ถ่ายภาพย้อนแสงออกมาได้สวยอย่างที่คิดไว้
2. ช่วงแสงในช่วงเวลาก่อนดวงอาทิตย์โผล่ขึ้นบนขอบฟ้า และช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าไฟแล้ว (Blue Hour)
ช่วง Blue hourเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นเพียงเล็กน้อยและหลังจากดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแต่ยังคงเหลือแสงที่ให้ความสว่าง โดยความสวยงามของช่วงระยะเวลานี้คือ แสงของดวงอาทิตย์ที่กระทบกับก้อนเมฆหรือท้องฟ้า หรือฝุ่นควันในบรรยากาศ มีสีสันของท้องฟ้าที่สวยอย่างน่าทึ่ง ดูแปลกตา
หรือถ้าเป็นการถ่ายภาพแนว Cityscape ก็จะให้ความรู้สึกถึงเมืองที่ดูมีชีวิตชีวา เพราะจะเห็นแสงไฟจากตึกและการเคลื่อนที่ของรถที่อยู่บนถนน
การถ่ายภาพในช่วงแสงแบบ Blue hour เรามักจะเห็นตัวอย่างการถ่ายภาพโดยใช้เทคนิค Long exposure ในการถ่ายภาพแบบ Cityscape โดยการถ่ายภาพด้วยโหมดความเร็วชัตเตอร์ มือใหม่จะถ่ายภาพได้ง่ายขึ้น ใช้ตัวช่วยในการถ่ายภาพคือขาตั้งกล้อง สายลั่นชัตเตอร์ และอย่าลืมถ่ายภาพด้วย RAW เพื่อจะแก้ไขและปรับแต่งภาพได้ภายหลัง
3. กลางคืน ไม่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ (Night)
การถ่ายภาพกลางคืน เป็นการถ่ายภาพที่ท้าทายสำหรับมือใหม่ แสงไม่พอ ปรับตั้งค่าไม่ได้ ภาพสั่นเบลอ แต่เป็นภาพที่ให้ผลลัพท์ที่ดูน่าสนใจซึ่งเป็นภาพที่ช่างภาพหลายคนหลงไหลอย่างมากด้วยเช่นกัน สีสันจากแสงไฟยามกลางคืน โบเก้หลากสี หรือการถ่ายภาพแสงดาว ดาวหมุน ดวงจันทร์
การถ่ายภาพตอนกลางคืน สำหรับมือใหม่เริ่มต้น อาจจะลองใช้โหมดรูรับแสง เพื่อช่วยในการควบคุมเฉพาะรูรับแสง แล้วการตั้งค่าอื่นปล่อยให้กล้องจัดการให้อัตโนมัติ หรือจะใช้โหมด M เพื่อควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองก็ได้เช่นกัน ตัวช่วยที่อาจจะต้องใช้ คือไฟเสริม แฟลช หรือการใช้ไฟประดับเพื่อเพิ่มให้ภาพดูสวยงามขึ้น
ในบางครั้งการเปิดรูรับแสงกว้างที่สุด ก็ไม่ใช่ตัวเลือกที่ใช้ได้เสมอไป การปรับความเร็วชัตเตอร์ให้ใช้เวลานานขึ้นก็เป็นทางเลือกที่ดีด้วยเช่นกัน
4. กลางวัน ช่วงแสงสีขาว สว่างจ้า ดวงอาทิตย์อยู่เหนือศีรษะ (Mid Daylight)
ช่วงกลางวันแสงจ้า มักจะเป็นช่วงเวลาที่มักจะถูกแนะนำให้เลี่ยง โดยเฉพาะการถ่ายภาพ Portrait เพราะตำแหน่งของแสง อยู่ด้านขนของตัวแบบ จะสร้างเงาลึกบนใบหน้าของตัวแบบ แต่ก็มีวิธีที่แก้หรือเสี่ยงไม่ให้ตัวแบบโดนแสงโดยตรง เช่นการใช้ร่ม หรือตาข่ายเพื่อบังแสงให้ตัวแบบ หรือการหลบเข้าร่ม ซึ่งถ้าเลี่ยงไม่ได้ การใช้ไฟเสริม แฟลช หรือแผ่นสะท้อน จะช่วยลดเงาที่เกิดขึ้นได้
การถ่ายภาพทิวทัศน์ในที่แสงจ้า กล้องจะเก็บรายละเอียดของสีได้น้อยลง เพราะแสงสว่างที่มีมาก สีที่ได้จะมีความเปรียบต่างสีน้อย สีจะดูไม่อิ่ม ทั้งยังมีแสงสะท้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ช่วยได้ก็คือการใช้ฟิลเตอร์เพื่อลดแสงสว่างที่เข้าไปที่เซ็นเซอร์ ทั้งยังทำให้สีอิ่มสวย สีเข้มขึ้น และภาพทิวทัศน์ที่ดูเป็นธรรมชาติและสวยเด่นขึ้น
5. ท้องฟ้าครึ้ม แสงสว่างจากดวงอาทิตย์ส่องลอดลงมาน้อย (Overcast)
การถ่ายภาพในช่วงที่ฟ้าครึ้ม อาจจะไม่ใช่ช่วงเวลาที่หลายคนชอบนัก เพราะสีสันที่อึมครึมไม่สดใส ทั้งสร้างอารมณ์ของภาพที่ดูหม่น และเศร้าหมอง แต่การถ่ายภาพตอนฟ้าครึ้ม เหมือนกำลังมีที่กรองแสงอันใหญ่ ช่วยให้แสงไม่แข็ง แสงที่ส่องกระทบตัวแบบเป็นแสงที่นุ่ม ถึงแม้จะเป็นการถ่ายภาพในช่วงกลางวันก็ตาม
แต่ท้องฟ้าในวันที่มีเมฆมาก ก็เป็นโอกาสดีที่จะถ่ายภาพรายละเอียดของก้อนเมฆ และลำแสงที่ลอดผ่านจากก้อนเมฆ ซึ่งในบางจังหวะจะสามารถเก็บภาพที่สวยงามอย่างคาดไม่ถึงได้